Hot Topic!

สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 06,2017

- - สำนักข่าวสยามรัฐ - -

 

โดย : ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

         

สภาพปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเกิดจากหลายสาเหตุดังนี้

         

สาเหตุที่ 1 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.เกิดจากปัญหาด้านงบประมาณ การทำบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลัง เพราะมีช่องว่างการบริหารด้านการคลัง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง สาเหตุมาจากการที่ อปท. ละเลยไม่ปฏิบัติหรือไม่ทำตามระเบียบฯ และอ้างว่าไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่มีการจัดทำและไม่จัดทำโดยในส่วนที่ อปท. ไม่จัดทำซึ่งก่อให้เกิดการทุจริต ดังเช่น (1) ไม่ทำทะเบียนยืมเงิน(2) ไม่ทำบัญชีคุมรายรับ (3) ไม่มีการทำหลักฐานในการเบิกจ่ายพัสดุ (4)ไม่มีการทำการลงบัญชีรายรับรายจ่าย (5)ไม่มีการทำรายงานแสดงรายรับรายจ่ายและงบทดลองเป็นรายเดือน (6)การจัดทำงบแสดงสถานะทางการเงินและรายงานทางการเงินต่างๆ (7)จัดทำการบันทึกข้อตกลงการจ้างเพื่อกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้าง (8)ไม่จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายใน (9)ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจรับพัสดุ (10)ไม่จัดให้มีการแต่งตั้งผู้แทนชุมชน หรือผู้แทนประชาคม

         

สาเหตุที่ 2 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.ที่เกิดจากตัวบุคคล โดยผู้บริหารท้องถิ่นและพนักงานท้องถิ่นบางส่วนได้ใช้ตำแหน่งของตนแสวงหาประโยชน์ เช่น การเก็บรายได้แล้วไม่ส่งคลัง หรือมีการแก้ไขหลักฐานการเงิน การจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเรียกเงินตอบแทนแลกกับตำแหน่งที่สอบบรรจุ การโยกย้าย การแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่ง นอกจากนี้บุคลากรในท้องถิ่นทั้งผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น มีญาติหรือพวกพ้องเป็นผู้รับเหมา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและกลุ่มเครือญาติ

         

สาเหตุที่ 3 สภาพปัญหาการทุจริตใน อปท. เกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ซึ่งหมายถึงการขาดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือการใช้ช่องทางชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการในการบริหารงานของอปท. โดย อปท. ต้องมีวิธีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ ทั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ พบว่าศูนย์ข้อมูลข่าวสารของ อปท.ไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบและไม่เป็นปัจจุบัน โดยบางส่วนยังขาดการตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีความพร้อมในการให้บริการ

         

สาเหตุที่ 4 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.ที่เกิดการขาดความรู้ความเข้าใจและขาดคุณธรรมจริยธรรม โดยมีบาง อปท. ที่มีขนาดเล็ก มีพนักงานท้องถิ่นที่บรรจุเข้ารับราชการโดยมีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับปวช.ขึ้นไปและผ่านการนิเทศงานมาน้อยหรือไม่มีความรู้เฉพาะด้านดีพอ ตลอดจน ส่วนหนึ่งผู้บริหารท้องถิ่นและพนักงาน ท้องถิ่นมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแสดงให้เห็นถึงการไม่มีคุณธรรม จริยธรรม

         

สาเหตุที่ 5 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.ที่เกิดจากช่องว่างของระเบียบและกฎหมายซึ่งเกิดจากช่องว่างกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ยังไม่มีความชัดเจนและมีความรัดกุมเพียงพอ อีกทั้งโครงสร้างของ อปท.ที่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีความเข้มแข็งโดยไม่กำหนดวาระ (สมัย) การดำรงตำแหน่ง รวมทั้งกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นทีมเดียวกับผู้บริหาร อปท. ทั้งหมดก็จะเป็นช่องทางให้ทุจริตได้ เพราะขาดระบบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ

         

สาเหตุที่ 6 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.ที่เกิดจากการตรวจสอบขาดความหลากหลายในการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ จากการศึกษาพบว่า ผู้ตรวจสอบ อปท. ที่เป็นสตง. เพียงหน่วยงานเดียวมีกำลังคนไม่เพียงพอไม่สามารถลงไปตรวจได้ทุกพื้นที่ ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็มีลักษณะ เช่นเดียวกัน ส่วนฝ่ายสภาท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มเดียวกับผู้บริหารท้องถิ่นจึงทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นทำให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่นได้น้อย

         

สาเหตุที่ 7 สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตใน อปท.ที่เกิดจากอำนาจบารมี อิทธิพลท้องถิ่นจากการศึกษา พบว่า ใน อปท. บางแห่ง ยังมีอิทธิพลหรืออำนาจที่ส่งผลให้เกิดการทุจริตได้ โดยเฉพาะอิทธิพลและอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ครอบงำหรือสามารถให้คุณให้โทษต่อเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการท้องถิ่นตลอดจนการใช้อิทธิพลข่มขู่หรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นๆ การบีบบังคับให้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจรับงานโครงการต่างๆ ตลอดจนบางครั้งประชาชนในท้องถิ่นไม่กล้าที่จะให้การเป็นพยานเพื่อเอาผิดกับผู้ทุจริตและส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกจิตใจคนในสังคมไทยมานาน เช่น ความเกรงกลัวอิทธิพล การนับถือผู้มีบารมี การสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจหน้าที่การงานในการแสวงหาผลประโยชน์

         

นอกจากนี้ปัญหาส่วนหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นกลุ่มผลประโยชน์และนักการเมืองระดับท้องถิ่นกับข้าราชการ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังมีความเข้มแข็งมากกว่าพลังในการตรวจสอบของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ดังนั้นสิ่งที่ต้องส่งเสริมก็คือ การทำให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งเพื่อคานอำนาจอิทธิพลเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันได้

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw